เรื่องของตด #0016

ตด หรือการผายลมเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่หากมีอาการตดบ่อย แป๊บ ๆ เดี๋ยวลมก็ออก แป๊บ ๆ ก็ตด แบบนี้คงไม่ค่อยดีนัก เพราะนอกจากจะทำให้ใช้ชีวิตลำบากกว่าเดิมแล้วยังทำให้กังวลว่าการที่เราตดบ่อยนี่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพภายในด้วยไหม นั่นน่ะสิ...ตดบ่อย อันตรายหรือเปล่า แล้วตดบ่อยเกิดจากอะไร ลองมาอ่านดู

ตดเกิดจากอะไร

         ตด เป็นกระบวนการขับลมหรือแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยตดจะประกอบไปด้วยแก๊สที่ไม่มีกลิ่น 99% อันได้แก่ แก๊สไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ออกซิเจน และมีเทน ส่วนแก๊สมีกลิ่นนั้นมีอยู่เพียง 1% ในตดเท่านั้น ซึ่งแก๊สที่มีกลิ่นก็เกิดจากการหมักหมมของอาหารในลำไส้ ก่อให้เกิดเป็นกำมะถัน ต้นเหตุของกลิ่นเหม็นตุ ๆ ของตดนั่นแหละ

ทำไมเราถึงตด

     สาเหตุที่ทำให้ผายลมเกิดจาก

  • อากาศที่ผ่านเข้าลำไส้ทางจมูก หรือปากในช่วงที่เคี้ยวอาหาร
  • การรับประทานอาหารที่มีกรด แก๊สมาก เช่น น้ำอัดลม ถั่ว ผักกะหล่ำปลี บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ หัวหอม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นม ไข่ ชีส อาหารไขมันสูง เป็นต้น
  • การเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอม
  • การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้อาหารย่อยไม่หมด และเกิดอาการท้องอืด มีแก๊สในลำไส้
  • การรับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไป ร่างกายจะย่อยอาหารประเภทนี้ได้ช้า และแบคทีเรียในลำไส้จะมาช่วยย่อย ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการหมัก และเกิดแก๊สในลำไส้
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป ซึ่งร่างกายจะใช้เวลาในการย่อยไขมันนาน เสี่ยงต่อการเกิดแก๊สในกระเพาะและลำไส้ ทำให้เรอบ่อย หรือผายลมบ่อยได้
  • ในคนที่ร่างกายไม่มีเอนไซม์ย่อยโปรตีนจากนม หากกินนม โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไป ร่างกายก็จะย่อยไม่ได้ เปิดช่องให้แบคทีเรียเข้ามาทำปฏิกิริยาหมักและก่อให้เกิดแก๊สในลำไส้
  • สำหรับคนที่แพ้กลูเตน เมื่อรับประทานอาหารที่มีกลูเตนเข้าไป เช่น ข้าวสาลี ขนมปัง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ซีเรียล หรือพายบางชนิด ลำไส้ก็จะไม่สามารถย่อยกลูเตนได้ จนก่อให้เกิดอาการท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะ และท้องเสียร่วมด้วย
  • นอนไม่พอ วิตกกังวล ความเครียด อาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ดี
  • ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีอยู่แล้ว เช่น คนที่ท้องอืดประจำ

ตดบ่อยอันตรายไหม

         โดยปกติแล้วคนเราจะตดประมาณ 10-20 ครั้งต่อวัน หรืออาจจะเกินไปเป็น 23 ครั้งต่อวันได้ คิดเป็นปริมาณแก๊สที่ปล่อยออกมาราว ๆ 0.5-1 ลิตรต่อวันเลยทีเดียว แต่หากว่าตดมากครั้งกว่านั้น อาจต้องลองสังเกตด้วยว่ามีอาการอื่น ๆ ประกอบด้วยหรือไม่ เช่น ปวดท้อง มวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการไม่สบายอื่น ๆ ซึ่งก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติต่อไป

ตดบ่อย บอกโรคอะไรได้บ้าง

         ในกรณีที่มีอาการตดบ่อยร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณบอกโรคต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  1. ท้องผูก คนที่มีอาการท้องผูก ไม่ได้ถ่ายหลายวัน ทำให้อุจจาระสะสมอยู่ในลำไส้นาน ๆ จนเกิดการหมักหมมและเกิดแก๊สมากกว่าปกติได้ ส่งผลให้ตดบ่อยตามมา
  2. โรคลำไส้แปรปรวน หนึ่งในอาการของโรคลำไส้แปรปรวนคือจะเรอ และผายลมบ่อย เนื่องจากลำไส้มีการย่อยอาหารไม่ปกติ และมักจะมีอาการปวดจนท้องเกร็ง ท้องอืดบ่อย ๆ ด้วย
  3. กระเพาะอาหารอักเสบ หากมีอาการผายลมบ่อย ร่วมกับอาการแน่นท้อง ปวดท้อง คล้ายกับอาหารไม่ย่อย อาการตดบ่อยของเราอาจบอกเป็นนัย ๆ ว่ากระเพาะอาหารอักเสบอยู่ก็ได้
  4. นิ่วในถุงน้ำดี หากมีนิ่วในถุงน้ำดี ร่างกายจะย่อยไขมันได้ไม่ดี และจะส่งผลให้มีอาการท้องอืดจนร่างกายต้องระบายลมออกมาเป็นตดบ่อยขึ้น ซึ่งอาการที่สังเกตได้ว่าร่างกายเราอาจมีนิ่วในถุงน้ำดี ก็สังเกตได้จากอาการผายลมหลังกินอาหารอิ่มใหม่ ๆ นั่นเอง
  5. โรคตับอ่อนอักเสบ กรณีนี้ก็จะคล้าย ๆ กับนิ่วในถุงน้ำดี เพราะตับอ่อนจะมีหน้าที่ช่วยย่อยไขมัน แต่หากตับอ่อนทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะมีอาการอักเสบเกิดขึ้น เราก็จะท้องอืด และมีอาการผายลมบ่อยขึ้นได้
  6. มะเร็งลำไส้ใหญ่ หากมีอาการผายลมบ่อย ร่วมกับน้ำหนักลดอย่างผิดปกติ ท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียเรื้อรัง อีกทั้งยังมีภาวะโลหิตจาง อาจต้องสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้นะครับ

กลั้นตด ดีไหม

        ใครคิดจะกลั้นตดเพราะรู้สึกอายที่จะตดบ่อย ๆ บอกเลยว่าให้หยุดความคิดนั้นเดี๋ยวนี้ ! เพราะการกลั้นตดไม่ใช่เรื่องดีต่อสุขภาพสักนิดค่ะ ลองคิดดูสิว่า ร่างกายเราต้องการผายลมเพื่อระบายแก๊สหรือของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นหากเราไปกลั้นตดไว้ แก๊สที่ร่างกายควรจะได้ระบายออกมาอาจตีกลับเข้าไปในเลือดและตับแทน เป็นการสะสมของเสียในร่างกายไปซะอย่างนั้น

ไม่ตดเลยก็ไม่ดีอีก !

         บางคนอาจมีอาการตดบ่อย แต่ก็มีเคสที่ไม่ตดเลยเหมือนกัน ซึ่งเคสนี้ก็อันตรายไม่เบานะ ยิ่งถ้ามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ไม่ถ่ายมาหลายวัน ตดก็ไม่ตด อาจเป็นเพราะลำไส้อุดตันอยู่ก็ได้ ดังนั้นควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดนะครับ

          อย่างไรก็ดี หากมีอาการตดบ่อยโดยไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไปเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ถั่ว ผักบางชนิดที่ได้กล่าวข้างต้น หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก และลดการรับประทานอาหารไขมันสูง เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เป็นต้น

0
241