เงินน้อย เครียดมาก

‘เงินน้อย เครียดมาก’รู้จักภาวะ Financial Insecurity เมื่อจำนวนเงินส่งผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง

“ส่วนที่ดีที่สุดของการเป็นคนมีเงิน คือเราจะไม่ต้องคิดถึงเงินอีกต่อไป มันไม่ใช่เรื่องของการมีรถหรู เครื่องประดับแพงๆ และไม่ใช่การอวดร่ำอวดรวยด้วย มันคือความปลอดภัยทางใจ เป็นช่วงเวลาที่เราพูดได้เต็มปากว่า เราไม่กังวลหรือเครียดเวลาใช้จ่ายอีกแล้ว เพราะความจนมันทำร้ายจิตใจคนได้มากจริงๆ” 


นี่คือคำกล่าวช่วงหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ แจ็ก ฮาร์โลว์ (Jack Harlow) แรปเปอร์ชาวอเมริกัน กับ Apple Music เกี่ยวกับความสำเร็จในฐานะศิลปินของเขา


จากคำพูดนี้ทำให้ย้อนคิดถึงความรู้สึกช่วงขัดสนได้ไม่น้อย ช่วงเวลาที่แม้แต่จะเลือกกินอาหารสักมื้อยังต้องคิดถึงความคุ้มค่ามากมาย ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางจากรถแท็กซี่เป็นรถเมล์ ยอมเสียเวลาแทนการเสียเงิน บางคนถึงขั้นเก็บตัวอยู่ในที่พักเพื่อให้ตัวเองใช้เงินให้น้อยที่สุดจนกว่าจะถึงวันเงินเดือนออก แล้วพอชีวิตมีเงื่อนไขมาจำกัดอิสรภาพมากเข้า ความเครียดจึงเกิดขึ้น ซึ่งความรู้สึกหงุดหงิดไม่มั่นคงเวลาเงินน้อยนี้มีคำเรียกว่า ‘Financial Insecurity’ 


ในทางจิตวิทยา จากคำอธิบายในบทความบนเว็บไซต์ฟอร์บส์ (Forbes) คำว่า ‘Financial Insecurity’ หรือ ‘ภาวะไม่มั่นคงทางการเงิน’ เป็นความรู้สึกทางจิตใจอันมีผลมาจากจำนวนเงินในกระเป๋าที่ทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกเศร้าใจหรือเครียดที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนได้ และพัฒนาต่อไปเป็นการสูญเสียความเคารพต่อตัวเอง ที่รู้สึกสิ้นหวังพ่ายแพ้จากความล้มเหลวด้านอาชีพหรือการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนวัยเกษียณที่จะต้องพึ่งพาเงินจากคนรอบตัวเพราะไม่สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้เต็มที่ จะมีอาการวิตกกังวล (Anxiety) เพิ่มขึ้นมากกว่าคนในวัยอื่น 


สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) เผยแพร่บทความเรื่องความไม่มั่นคงทางการเงินที่ส่งผลต่อจิตใจในเดือนตุลาคม 2022 ตรงกับช่วงวันสุขภาพจิตโลก โดยมีเนื้อหาว่าสุขภาพจิตที่ดีและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีควรถูกพัฒนาไปควบคู่กัน เนื่องจากเงินเป็นปัญหาใหญ่สำหรับใครหลายคน การจัดการกับความวิตกกังวลและสภาพจิตใจที่ย่ำแย่อาจต้องเริ่มจากการมีสภาพคล่องทางการเงินเสียก่อน


จากผลสำรวจของ Bankrate บริษัทให้บริการทางการเงินในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ร่วมกับ Psych Central เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิต ทำการสอบถามคนวัยทำงานในสหรัฐอเมริกากว่า ​​2,457 คน พบว่า 70% กล่าวว่า ความเครียดส่วนใหญ่ในชีวิตมีผลมาจากปัญหาทางการเงิน โดยการกระทำที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดดังกล่าวมีดังนี้ (ตามลำดับจากมาก-น้อย)


  • เปิดดูบัญชีธนาคาร
  • เวลาจ่ายบิลค่าใช้จ่ายรายเดือน 
  • การจับจ่ายซื้อของ
  • เวลาต้องปรึกษาเรื่องการเงินกับผู้อื่น
  • เวลาได้รับเงินมา 
  • การตรวจดูบัญชีสำหรับลงทุน
  • การเสพคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย 


ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ mind.org.uk ของสหราชอาณาจักร มีการนำเสนอว่าความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงินที่ส่งผลต่อจิตใจอย่างหนัก เกิดจากการที่คนคนหนึ่งถูก ‘ล่วงละเมิดทางการเงิน’ (Financial Abuse) ซึ่งหมายถึงการตกอยู่ในสถานการณ์ที่คนใกล้ชิดใช้เงินเป็นตัวควบคุมการกระทำของเรา หรือต้องพึ่งพาเงินจากใครบางคนเป็นเวลานาน จนวิถีชีวิตของเราขึ้นอยู่กับการสนับสนุนด้านการเงินจากคนผู้นั้นเป็นหลัก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยในความสัมพันธ์แบบครอบครัวหรือความสัมพันธ์แบบคนรัก ทำให้ผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดทางการเงินมีแนวโน้มที่จะรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงินได้มากกว่าปกติ เพราะพวกเขาจะรู้สึกไม่ปลอดภัย เหมือนชีวิตขาดอิสรภาพไป


ทั้งนี้ อาการ Financial Insecurity ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยการหันมาควบคุมนิสัยการใช้จ่าย วางแผนการเงินให้รัดกุม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินไปมากจนรู้สึกไม่ปลอดภัย ร่วมกับการทำความเข้าใจต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนให้แยกขาดออกจากเรื่องเงิน โดยให้มองว่าเงินเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ 

0
155