@ratanon 1 year ago - 2023-01-02 04:41:10

เตรียมพร้อมก่อนตรวจ MRI

เตรียมพร้อมก่อนตรวจ รู้จัก MRI คืออะไร ต่างจากการตรวจ CT Scan อย่างไร ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีทั้งค่ารักษาพยาบาล และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันความเจ็บป่วย แต่ละรายจ่ายนั้นมีรายละเอียดที่สอดคล้องกับโรคที่พบ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้อุปกรณ์หน้าตาคล้ายกัน อย่างเครื่อง MRI และ CT Scan หากคุณต้องเข้ารับการรักษาด้วยสองวิธีนี้ มาดูความแตกต่างก่อนเข้ารับการตรวจ

MRI คือ กระบวนการตรวจสอบความผิดปกติของอวัยวะในร่างกายด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อแปลผลแสดงภาพให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ละเอียดขึ้น โดยสามารถตรวจได้ง่ายโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนท่าผู้ป่วย แต่ก็มีข้อควรระวังที่ต้องปฏิบัติ

MRI (Magnetic Resonance Imaging) เป็นหลักการสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคของผู้ป่วย โดยอาศัยคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของอะตอมไฮโดรเจน ที่มีอยู่ในน้ำอันส่วนประกอบหลักของร่างกายมนุษย์ เมื่ออุปกรณ์กระตุ้นด้วยการส่งสัญญาณคลื่นวิทยุความถี่จำเพาะลงบนอวัยวะนั้น แล้วอ่านค่าแปลผลเป็นภาพ เห็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ง่าย

ประโยชน์ของการทำ MRI ช่วยให้แพทย์วิเคราะห์การทำงานอวัยวะของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น เห็นภาพทางกายภาพของร่างกายคนไข้ โดยที่คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว ไม่ต้องพลิกท่า ช่วยให้แพทย์วิเคราะห์การรักษาได้แม่นยำมากขึ้น แต่จะมีข้อควรระวังในผู้ที่ติดตั้งอุปกรณ์โลหะในร่างกาย เพราะคลื่นความถี่จะสร้างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบนโลหะเกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา ข้อจำกัดของการทำ MRI คือไม่สามารถเห็นภาพรวมในการตรวจครั้งเดียว จะต้องได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์

ขั้นตอนการทำ MRI มีข้อจำกัดอะไรบ้าง

  1. ผู้เข้ารับการตรวจ MRI ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่าต้องทำ MRI ตรวจอะไรบ้าง
  2. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล และให้คำแนะนำแก่ผู้เข้ารับการตรวจ MRI พร้อมอธิบายการทำงานของเครื่อง
  3. ผู้ที่มีอาการกลัวที่แคบ และมีข้อกังวลใจให้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับบริการ อาจได้รับอนุญาตให้ญาติเข้าไปอยู่ในห้องเป็นเพื่อนได้
  4. การตรวจ MRI แต่ละชุด จะต้องใช้เวลานาน หากระหว่างการตรวจเกิดปัญหาใดๆ ให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่
  5. ต้องนอนในท่านิ่งที่สุด ไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาพไม่ชัดเจน ส่งผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์

ข้อจำกัดของการทำ MRI

  1. งดการแต่งหน้า เนื่องจากส่วนประกอบของเครื่องสำอางบางชนิดทำให้การแปลผลของภาพบิดเบี้ยว
  2. แจ้งเจ้าหน้าที่ หากเคยผ่าตัดใส่อวัยวะโลหะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ข้อเทียม, โลหะดามกระดูก, กระสุนปืน
  3. ถอดแว่น ถอดฟันปลอม และเครื่องหูฟัง รวมถึงกุญแจและโลหะต่างๆ
  4. หญิงตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ แจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อน
  5. ผู้ที่มีอาการกลัวการอยู่ในที่แคบ (Claustrophobia) แจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ
การเตรียมตัวก่อนตรวจ MRI

ก่อนเข้ารับการตรวจ MRI ผู้ป่วยต้องเข้าใจหลักการทำงานของ MRI เพื่อจะได้ไม่ตื่นเต้นเวลาเข้าไปอยู่ในเครื่อง แต่ก็ไม่ต้องกังวลเพราะเจ้าหน้าที่จะอยู่ในห้องกับคุณ พร้อมแจ้งการเตรียมตัว และขั้นตอนการตรวจอีกครั้ง ก่อนเข้าเครื่อง MRI ควรเตรียมตัวดังนี้

  • ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารช่วยในการตรวจ (Contrast Media) ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยโรค และเพิ่มรายละเอียดของภาพให้ดีขึ้น เป็นสารที่ปลอดภัย และร่างกายขับออกได้เองหมดภายใน 24 ชั่วโมง การฉีดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และวิเคราะห์ร่วมกับน้ำหนักตัวของผู้เข้ารับการตรวจ
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค แพทย์อาจให้งดรับประทานยาบางตัว เพราะฉะนั้นหากคุณมีโรคประจำตัว ควรแจ้งกับแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจ MRI
  • งดการแต่งหน้าและการใช้เครื่องสำอาง เพราะบางส่วนผสมมีผลต่อการอ่านค่าแปลผลเป็นภาพ
  • เนื่องจากการตรวจ MRI ใช้เวลานาน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ควรเตรียมพร้อมเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย
CT Scan กับ MRI ต่างกันอย่างไร

เครื่องมือการตรวจ MRI คล้ายกับ CT Scan แตกต่างกันตรงที่ CT Scan ใช้รังสี และใช้ระยะเวลาน้อยกว่า แต่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของการตรวจ MRI จะทำให้เห็นรายละเอียดของการทำงานในระดับเนื้อเยื่ออ่อนๆ ได้มากกว่า จึงใช้วิเคราะห์ความผิดปกติของอาการที่เรื้อรัง เพื่อพิจารณาแก้ไขระบบที่เกิดโรค

CT Scan นำมาใช้เป็นทางเลือกแรกๆ ในกรณีที่แพทย์พบอาการที่บ่งบอกภาวะกะโหลกร้าว เลือดไหลในสมอง หมดสติ ประสบอุบัติเหตุ หรือมีอาการชัก, ปวดหัวรุนแรง, อาเจียน, ตาดำข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่ง, มีปัญหาการพูด ได้ยิน และการกลืน, มีของเหลวหรือเลือดออกมาจากหูและจมูก, กล้ามเนื้อใบหน้าหรือร่างกายอ่อนแรงข้างหนึ่ง หากมีอาการเหล่านี้แพทย์มักเลือกใช้ CT Scan วินิจฉัยก่อน MRI

MRI ใช้ตรวจสอบระบบสมองขาดเลือด ระบบหัวใจ ในระดับเนื้อเยื่อได้ละเอียดกว่า และมีประโยชน์ต่อการตรวจผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากไม่มีอันตรายที่เกิดจากการใช้รังสีเอกซเรย์

ราคาการตรวจ MRI ในส่วนต่างๆ

ปัจจุบันมีเครื่อง MRI ตามโรงพยาบาลต่างๆ และจากสถานพยาบาลเอกชนให้บริการ ตัวอย่างราคาการทำ MRI ส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีดังนี้

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (ราคาอัพเดท 24 ก.พ. 2564)

  1. MRI Brand (สมอง) ราคา 4,900 บาท
  2. MRI Cervical Spine (คอ) ราคา 4,900 บาท
  3. MRI Shoulder (ไหล่) ราคา 4,900 บาท
  4. MRI LS Spine (เอว) ราคา 4,900 บาท
  5. MRI Knee (เข่า) ราคา 4,900 บาท

ประชาชื่น MRI (ราคาอัปเดต 24 ก.พ. 2564)

  1. MRI Brain (สมอง) ราคา 7,200-10,800 บาท
  2. MRI Cervical Spine (คอ) ราคา 7,200 บาท
  3. MRI Thoracis Spine (กระดูกสันหลัง) ราคา 7,200 บาท
  4. MRI Lumbosacral Spine (เอว) ราคา 7,200 บาท
  5. MRI Whole Spine (กระดูกสันหลังทั้งหมด) ราคา 21,600 บาท
  6. Breast (ตรวจเต้านม) ราคา 13,800 บาท
  7. MRI Upper Abdomen (ตรวจช่องท้องส่วนบน) ราคา 7,200 บาท
  8. MRI Lower Abdomen (ตรวจช่องท้องส่วนล่าง ดูมดลูก รังไข่) ราคา 7,200 บาท
  9. Whole Abdomen (ตรวจช่องท้องทั้งหมด) ราคา 14,400 บาท
  10. MRI Whole Body (ตรวจทั้งร่างกายแบบพิเศษ) ราคา 54,000 บาท

การตรวจ MRI นอกจากช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคแล้ว ยังมีผลต่อการวางแผนดูแลสุขภาพของตัวเอง ถือเป็นการตรวจสุขภาพร่างกายอย่างหนึ่งเพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลง ป้องกันความเสี่ยงเกิดโรค แต่เนื่องจากการตรวจ MRI แต่ละส่วนมีค่าใช้จ่าย จึงควรศึกษาความจำเป็น และควรได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์ประกอบด้วย

0
231